top of page

กฏหมายการจราจรประเทศเมียรม่า

เริ่มเปิดประเทศไปได้ไม่นานนัก สำหรับประเทศพม่าหลังจากที่ปิดประเทศจากโลกภายนอกเป็นเวลากว่า 30 ปี และดูเหมือนว่าขณะนี้ กลายเป็นประเทศที่เนื้อหอมเอามาก ๆ

วันจันทร์ 25 สิงหาคม 2557 เวลา 09:06 น.

เริ่มเปิดประเทศไปได้ไม่นานนัก สำหรับประเทศพม่าหลังจากที่ปิดประเทศจากโลกภายนอกเป็นเวลากว่า 30 ปี และดูเหมือนว่าขณะนี้ กลายเป็นประเทศที่เนื้อหอมเอามาก ๆ เพราะด้วยสภาพเมืองที่ยังคงความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติและทรัพยากรทางวัฒนธรรมแบบเต็มเปี่ยม ทำให้ทั้งเหล่านักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากทั่วโลกต่างก็มุ่งไปชมความสวยงาม และขุดทองในประเทศพม่ากันอย่างมากมาย

ไทยก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ถือเป็นบ้านพี่เมืองน้อง ที่รั้วบ้านติดกัน ซึ่งพม่าก็เป็นประเทศที่ไทยต้องเรียนรู้สภาพเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความเป็นอยู่เอาไว้ เพราะอีกไม่นาน เราต่างก็จะก้าวเข้ามาอยู่รวมกันในฐานะประชาคมอาเซียน  ดังนั้น สำนักนโยบาย และแผนการขนส่ง และการจราจร (สนข.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ต้องศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การคมนาคม การขนส่ง และจราจร เพื่อนำสิ่งต่างๆมาวางแผนพัฒนาประเทศไทยของเราต่อไป นายพีระพล ถาวรสุภะเจริญ สนข.จึงได้พาเหล่าข้าราชการ และคณะสื่อมวลชนเหินฟ้าไปศึกษาการเส้นทางขนส่งสินค้าของประเทศพม่า เพื่อเปิดประตูการเชื่อมต่อจากไทยสู่พม่า และเชื่อมต่อสู่โลกอีกด้วย

สำหรับเรื่องราวการเหินฟ้าไปศึกษาดูงานนั้น เราได้เดินทางไปเยี่ยมชมท่าเรือขนส่งสินค้าเมาะละแหม่งยังเมืองเมาะละแหม่ง ซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญที่สามารถเชื่อมต่อกับด่านขนส่งสินค้าชายแดนของไทยคือด่านแม่สอด จ.ตาก ซึ่งสินค้าส่งออกของไทยบางส่วนจะขนส่งผ่านด่านขนส่งสินค้าแม่สอด ผ่านไปยังท่าเรือเมาะละแหม่ง และไปยังเมืองย่างกุ้งต่อไป นอกจากนี้คณะเดินทางยังได้เดินทางไปเยี่ยมชมท่าเรือขนส่งสินค้าติละวา ในเมืองย่างกุ้ง ซึ่งเป็นท่าเรือขนาดใหญ่เทียบเท่าท่าเรือกรุงเทพฯ ของไทย ซึ่งท่าเรือดังกล่าวพม่าจะมีการพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อการนำเข้าและส่งออกสินค้า

ตลอดการเดินทางเยี่ยมชมท่าเรือต่าง ๆ พม่าถือเป็นประเทศที่น่าสนใจในหลาย ๆ อย่าง และสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในพม่าคือด้านการจราจรนั่นเอง ซึ่งในอดีตพม่าใช้รถยนต์รูปแบบพวงมาลัยขวา และขับทางเลนซ้ายตามแบบของประเทศอังกฤษ แต่เมื่อได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้ว พม่าก็เปลี่ยนรูปแบบการขับรถ โดยยังคงใช้พวงมาลัยขวา แต่เปลี่ยนมาเป็นการขับรถในเลนขวา ซึ่งต้องถือว่าแปลก แหวกแนว ไม่เหมือนกับรูปแบบของประเทศอื่น ๆ ในโลก โดยไกด์ท้องถิ่นบอกกับเราว่า การเปลี่ยนเลนการขับรถยนต์มาให้เป็นรูปแบบดังกล่าวนั้น ช่วงแรก ๆ ประชาชนที่ขับรถก็เกิดอาการสับสนบ้าง แต่พอนานไปทุกคนก็เคยชินกับรูปแบบการขับรถแบบนี้

โดยในส่วน การจราจรบนท้องถนนของเมืองย่างกุ้ง ซึ่งในอดีตเคยเป็นเมืองหลวงของประเทศพม่า ถือเป็นเมืองที่มีความเจริญสูงสุด นั้น มองไปมองมาเราจะเห็นเพียงแต่รถยนต์ส่วนบุคคล และรถโดยสารสาธารณะ หรือไม่ก็รถจักรยาน ส่วนรถจักรยานยนต์ เป็นที่ต้องห้ามของเมืองย่างกุ้งอย่างเด็ดขาด โดยไกด์บอกกล่าวกับเราว่า รัฐบาลทหารของประเทศพม่า ได้ออกกฎหมายห้ามใช้รถจักรยานยนต์ในเมืองย่างกุ้ง เพราะในอดีตเคยมีหลากหลายเหตุการณ์ในการใช้รถจักรยานยนต์ลอบปองร้ายผู้นำในรัฐบาลทหารของพม่า ทั้งนี้การห้ามใช้รถจักรยานยนต์ของเมืองย่างกุ้ง นอกจากจะเป็นการดูแลความปลอดภัยของเหล่าผู้นำ ยังเป็นการลดปริมาณเด็กแว้นไปด้วยในตัว

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อย่างกุ้ง มีกฎหมายห้ามใช้รถจักรยานยนต์ในการสัญจร ก็ส่งผลให้ทั้งเมืองมีแต่การใช้รถยนต์เป็นส่วนมาก และรถยนต์ส่วนใหญ่ก็จะเป็นรถยนต์มือสอง ที่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น ทำให้ปัญหาที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ คือ ปัญหาการจราจรติดขัดอย่างมาก อีกทั้งเมืองย่างกุ้งก็ยังไม่มีระบบการจัดการจราจรที่ดีมากนักถ้าเทียบกับเมืองไทย จึงทำให้ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาใหญ่ของเมืองเลยทีเดียว ส่วนประชาชนที่ยากจนในย่างกุ้ง หากไม่มีเงินซื้อรถยนต์ก็จะต้องใช้รถจักรยาน หรือโดยสารระบบขนส่งมวลชน ซึ่งนั่นก็คือรถเมล์ โดยรถเมล์ในย่างกุ้ง ถือเป็นอีกหนึ่งอันซีน โดยไกด์บอกเราว่า รถเมล์ของพม่าจะเป็นรถสภาพเก่า มีที่นั่งบนรถประมาณ 10 ที่นั่งเท่านั้น แต่มีที่ยืนไม่จำกัด ซึ่งผู้โดยสารส่วนมากจะต้องยืนเบียดกันบนรถแบบแน่นเอี้ยด

ส่วนในเมืองอื่น ๆ ของพม่า ไม่มีกฎหมายห้ามใช้รถจักรยานยนต์ จึงเห็นผู้คนขี่รถจักรยานยนต์กันแบบเรียงราย และส่วนใหญ่ก็จะเป็นรถมือสอง ที่นำเข้าจากจีนและไทย ซึ่งหากนำเข้าจากจีน ราคาจะเริ่มต้นที่ 15,000 บาท ส่วนหากเป็นรถที่นำเข้าจากไทย ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาท ซึ่งหากใครจะซื้อ จะต้องจ่ายเงินสดเท่านั้น เพราะในพม่าไม่มีระบบเงินผ่อนแบบในประเทศไทย แต่ การจราจรในเมืองอื่นค่อนข้างจะไม่เป็นระบบเอามาก ๆ ด้วยความไม่พร้อมของถนน และบนถนนไม่มีเส้นจราจรแบ่งเลนการขับรถใด ๆ ทั้งสิ้น จึงทำให้ผู้ขับขี่รถในพม่า จะขับขี่กันตามอำเภอใจ และใช้แตรในการส่งสัญญาณกันเป็นหลัก เรียกได้ว่า ใครขับรถก็จะบีบแตรกันตลอดเวลา ส่วนประชาชนคนเดินถนน ก็ไม่มีอาการเกรงกลัวอุบัติเหตุแต่อย่างใด ไกด์เล่าว่า ใครนึกอยากจะข้ามถนน ก็จะข้ามแบบทันทีทันใจ เพราะเมืองอื่น ๆ ของพม่า ที่ไม่ใช่ย่างกุ้ง จะมีทางม้าลาย และสะพานลอยน้อยมาก จนแทบไม่มีเลย จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนกันบ่อยครั้ง

นอกจากนี้ หากเราขับรถไปตามท้องถนน ก็จะได้เห็นด่านเก็บค่าผ่านทาง เรียงรายอยู่ตามท้องถนน คล้าย ๆ ด่านเก็บค่าทางด่วนของไทย ซึ่งบางพื้นที่รัฐบาลของพม่าก็จะให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชน ในการจัดเก็บค่าผ่านทาง เพื่อนำเงินมาใช้พัฒนาท้องถนน และพัฒนาประเทศ หรือบางพื้นที่ชาวบ้านบริเวณนั้น ๆ ก็จะตั้งด่านเก็บค่าผ่านเพื่อนำเงินมาสร้าง และซ่อมถนนกันเอง โดยค่าผ่านทางมี 2 แบบ แบบแรกเป็นการเก็บค่าผ่านตามท้องถนนทางปกติ ราคาแต่ละด่านจะไม่เท่ากัน แล้วแต่บริษัทเอกชนที่รับสัมปทานมา เริ่มต้นเก็บตั้งแต่ 2,200-5,500  จ๊าด หรือคิดเป็นเงินบาทประมาณ 88-220 บาท และแบบที่สองเป็นระบบ มอเตอร์เวย์ 4 ช่องจราจร ราคาแต่ละด่านไม่เท่ากันเช่นกัน เริ่มต้นจาก 7,500-22,500 จ๊าด  คิดเป็นเงินไทยประมาณ 300-900 บาท อย่างไรก็ตามในพม่านั้น ไกด์บอกเล่าว่า รถทุกคันที่จะผ่านด่านจะต้องจ่ายค่าผ่านทาง ไม่ว่าจะเป็นรถจักรยานยนต์ รถยนต์ส่วนบุคคล รถสาธารณะ หรือแม้แต่รถของทูต หรือผู้นำทหารของประเทศพม่า ก็ไม่มียกเว้นเช่นกัน

ดู ๆ แล้ว การเก็บค่าผ่านทางรูปแบบนี้ ถ้านำมาปรับใช้กับประเทศไทย ก็คงจะดีไม่น้อย เพราะจะได้นำงบประมาณมาพัฒนาถนนให้มีคุณภาพ อีกทั้งยังสามารถช่วยจำกัดจำนวนรถบนท้องถนน เพราะเมื่อเราต้องจ่ายค่าผ่านทางราคาแพงในทุก ๆ ที่ ก็คงมีแต่คนที่จำเป็นต้องใช้รถจริง ๆ ถึงจะนำรถส่วนตัวออกมาใช้ แต่จะทำได้จริง ๆ รัฐก็จะต้องเร่งพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของไทยให้มีคุณภาพ และสะดวกสบายด้วยเช่นกัน

สำหรับประเทศพม่า การจราจร อาจยังไม่สมบูรณ์พร้อมมากนัก ในการรองรับการพัฒนาประเทศที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลพม่า ที่ต้องไม่หลงลืมในจุดนี้ และเร่งการพัฒนาศักยภาพการเดินทางของประเทศให้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันพม่าก็มีหลายสิ่งที่ยังสมบูรณ์ และหาจากประเทศอื่น ๆ ไม่ได้แล้ว นั่นคือทรัพยากรทางวัฒนธรรม และทางธรรมชาติ ที่ยังคงเป็นไปแบบดั้งเดิม และสวยงาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังฝันหาอยู่ในขณะนี้.

 

หมายเหตุ

 

ญาดา หริรักษาพิทักษ์/รายงาน

bottom of page